10 ข้อต้องปฏิบัติทันที ถ้าเสี่ยงสัมผัสผู้ป่วยโควิด-19

1087 จำนวนผู้เข้าชม  | 

10 ข้อต้องปฏิบัติทันที ถ้าเสี่ยงสัมผัสผู้ป่วยโควิด-19

จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ในไทยเริ่มเพิ่มขึ้น และหลายคนรู้สึกว่าเริ่มใกล้ตัวเข้ามาทุกที จนวิตกกังวลว่าตัวเองจะเสี่ยงแค่ไหน โดยเฉพาะเมื่อรู้ว่าตัวเองสัมผัสใกล้ชิดกับบางคนที่เป็นแล้ว เรื่องนี้กรมควบคุมโรค มีข้อปฏิบัติ 10 ข้อ เพื่อจะได้ไม่แพร่ระบาดสู่คนอื่น

เริ่มจากนิยามก่อนว่าใครมีความเสี่ยง เรียกว่า เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ตามเกณฑ์ที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้อธิบายไว้ในเอกสาร คู่มือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน กรณีการระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ดังนี้


ผู้สัมผัส ซึ่งหมายถึง ผู้ที่มีกิจกรรมร่วมกับผู้ป่วยยืนยันหรือผู้ป่วยเข้าข่าย โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ

  1. ผู้สัมผัสที่อาจเป็นแหล่งโรค ได้แก่ ผู้สัมผัสผู้ป่วยในช่วง 14 วันก่อนเริ่มป่วย
  2. ผู้สัมผัสที่อาจรับเชื้อจากผู้ป่วย ได้แก่ ผู้สัมผัสผู้ป่วยนับแต่วันเริ่มป่วย ในกลุ่มนี้ยังแบ่งเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง หมายถึง ผู้สัมผัสที่มีโอกาสสูงในการรับหรือแพร่เชื้อกับผู้ป่วย ประกอบด้วย
        1. ผู้สัมผัสใกล้ชิดหรือมีการพูดคุยกับผู้ป่วยในระยะ 1 เมตร นานกว่า 5 นาที หรือถูกไอจามรดจากผู้ป่วยโดยไม่มีการป้องกัน อาทิ ไม่สวมหน้ากากอนามัย
        2. ผู้ที่อยู่ในบริเวณที่ปิด ไม่มีการถ่ายเทอากาศ เช่น ในรถปรับอากาศ ห้องปรับอากาศ ร่วมกับผู้ป่วย และอยู่ห่างจากผู้ป่วยไม่เกิน 1 เมตร นานกว่า 15 นาที โดยไม่มีการป้องกัน


สำหรับผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ หมายถึง ผู้สัมผัสที่มีโอกาสต่ำในการรับหรือแพร่เชื้อกับผู้ป่วย ได้แก่ ผู้สัมผัสที่ไม่เข้าเกณฑ์ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงดังกล่าว

เมื่อสำรวจแล้วพบว่าตัวเองเข้าเกณฑ์เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง กรมควบคุมโรค มีคำแนะนำดังนี้

  1. ควรหยุดเรียน หยุดงาน และอยู่บ้านจนครบ 14 วันหลังสัมผัสแหล่งโรค หรือผู้ป่วย
  2. ควรนอนแยกห้อง ไม่ออกนอกบ้าน ไม่ไปที่ชุมชนสาธารณะ
  3. รับประทานอาหารแยกจากผู้อื่น
  4. ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดหน้า แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ
  5. หากมีอาการไอให้สวมหน้ากากอนามัย ปิดปากจมูกด้วยกระดาษทิชชูทุกครั้งที่ไอจาม โดยปิดถึงคางแล้วทิ้งทิชชูลงในถุงพลาสติก และปิดปากถุงให้สนิทก่อนทิ้ง หรือใช้แขนเสื้อปิดปากจมูกเมื่อไอหรือจาม และทำความสะอาดมือด้วยแอลกอฮอล์เจล หรือน้ำและสบู่ทันที
  6. เมื่ออยู่กับผู้อื่นต้องสวมหน้ากากอนามัย และอยู่ห่างจากคนอื่น ๆ ในบ้านประมาณ 1-2 เมตร หรืออย่างน้อย ประมาณหนึ่งช่วงแขน
  7. หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดบุคคลอื่นในที่พักอาศัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่าง ๆ
  8. ทุกคนในบ้านควรล้างมือบ่อยครั้งที่สุด เพื่อลดการรับและแพร่เชื้อ
  9. ทำความสะอาดเสื้อผ้า ผ้าปูเตียง ผ้าขนหนู ฯลฯ ด้วยสบู่หรือผงซักฟอกธรรมดาและน้ำ หรือซักผ้าด้วยน้ำร้อนที่อุณหภูมิน้ำ 60-90 °C
  10. เฝ้าระวังอาการเจ็บป่วยของผู้สัมผัสใกล้ชิดหรือสมาชิกในบ้าน ภายในระยะเวลา 14 วัน หลังสัมผัสผู้ป่วย โดยวัดไข้และรายงานอาการต่อทีมสอบสวนโรคทุกวัน

ในกรณีที่ผู้สัมผัสใกล้ชิดเป็นมารดาให้นมบุตร ยังสามารถให้นมบุตรได้ เนื่องจากปริมาณไวรัสที่ผ่านทางน้ำนม มีน้อยมาก แต่มารดาควรสวมหน้ากากอนามัย และล้างมืออย่างเคร่งครัดทุกครั้งก่อนสัมผัสหรือให้นมบุตร

ทั้งนี้หากพบว่ามีไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หายใจเหนื่อยหอบ ให้แจ้งบุคลากรสาธารณสุขในพื้นที่ หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค DDC Hotline 1422 ทันที


ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้